วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แนวทางในการเลือกอาชีพในอนาคต

      แนวทางการเลือกอาชีพในการทำงาน


                                               


ตอนที่ 1

ในวัยเด็ก คุณมีอาชีพที่ใฝ่ฝันไหมครับ? .............??
ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงมีอาชีพที่ความใฝ่ฝัน บางคนอยากเป็นนักการเมือง ฑูต ตำรวจ ทหาร นักบิน บางคนอยากเป็นแอร์โฮสเตส ครู นักธุรกิจ อาชีพเหล่านี้มักจะเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมในช่วงวัยเด็กของผม แต่สมัยนี้ผมคิดว่าอาชีพที่เด็กใฝ่ฝัน อาจเป็น นักแสดง นักดนตรี โปรแกรมเมอร์ ผู้บริหาร เป็นต้น เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความใฝ่ฝันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งผมคิดว่า ความใฝ่ฝันเป็นเรื่องของแต่ละคน คงจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ว่าอาชีพนั้นดีกว่าอาชีพนี้ เพราะหากเป็นอาชีพที่สุจริตแล้ว อาชีพทุกอาชีพก็ถือว่ามีคุณค่าเท่าเทียมกัน

เมื่อเวลาผ่านพ้นไปเรื่อยๆ จากเด็กเล็กๆ เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ความใฝ่ฝันนั้น ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตามอายุของความคิด หลายๆคนเริ่มไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เราใฝ่ฝันนั้น จะเป็นสิ่งที่ใช่สำหรับเราหรือไม่ เรียนมาตั้งแต่อนุบาลจนถึงม. 3 ดูเหมือนว่าความใฝ่ฝันนั้นยังเป็นเพียงแค่ภาพลางๆ และในเวลานี้ต้องตัดสินใจเลือกแล้วว่า จะเลือกเรียนอะไร ถึงจะเข้ากับตัวเรามากที่สุด จะไปทางสายอาชีพ หรือจะอยู่สายสามัญ แล้วถ้าเลือกทางสายอาชีพหรือสายสามัญ ก็ต้องเลือกอีกว่า จะเลือกวิชาหลักอะไร? คำถามเหล่านี้ทำให้เราทุกคนต้องหัวหมุน ครุ่นคิดว่าจะเลือกอย่างไร

ต่อมาเมื่อการตัดสินใจครั้งแรก ได้ผ่านพ้นไป ดูเหมือนชีวิตของเรายังต้องตัดสินใจอยู่เรื่อยๆ มีครั้งแรกย่อมมีครั้งที่สอง จากนักเรียนต้องไปสู่การเป็นนักศึกษา เพื่อไต่เต้าไปสู่ความฝันที่คาดหวังไว้ หลายๆ คนมีวิธีการเลือกที่ต่างกันออกไป บางคนเลือกตามที่พ่อแม่สั่ง บางคนเลือกตามเพื่อน บางคนเลือกเพราะชอบชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย บางคนเลือกเพราะเชื่อว่าคณะนั้นจบไปแล้วจะไม่ตกงาน บางคนเลือกเพราะคิดว่าคณะนั้นเมื่อจบไปแล้วจะได้งานทำที่มีเงินเดือนสูงๆ บางคนเลือกเพราะคะแนนที่ได้มันเลือกคณะอื่นไม่ได้ แต่หารู้ไม่ว่า วิธีเลือกคณะที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นผิดหมดทุกวิธีครับ

ด้วยวิธีคิดที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ทำให้นักเรียนบางคนสอบติดคณะที่เลือกแต่พอเรียนไปได้สักพักก็เรียนไม่ไหวต้องลาออกหรือบางคนต้องโดนรีไทร์ ทำให้เสียเวลา เสียเงินทอง และเสียโอกาสของประเทศจะได้บุคคากรดีๆ มารับใช้ประเทศ บางคนอดทนเรียนจนจบ แต่ก็ไม่ไปทำงานในสาขาที่ตนเรียนมา แต่ไปทำงานอื่นที่ชอบหรือถนัดกว่า ทำให้ประเทสชาติสูญเสียอย่างมาก เช่น บางคนจบสถาปัตย์แต่ไปทำละครหรือรายการโทรทัศน์ เหตุผลที่ผมบอกว่าประเทศต้องสูญเสียอย่างมาก เพราะประเทศเสียงบประมาณมหาศาลเพื่อผลิตสถาปนิกสักคน แต่แทนที่เขาจะไปทำงานด้านสถาปัตย์ เขากลับไปทำงานอย่างอื่น เท่ากับที่รัฐลงทุนไปนั้นรัฐแทบไม่ได้อะไรตอบแทนมาเลย และสำหรับคนที่เรียนสถาปัตย์แล้วประสบความสำเร็จจากการทำละครหรือเกมส์โชว์นั้น หากเขาเลือกเรียนนิเทศน์ตั้งแต่แรกก็คงสามารถทำละครได้ดีกว่าที่ไปเรียนสถาปัตย์ หรือบางคนจบหมอแล้วไปขายตรง, บางคนจบวิศวฯแล้วไปทำธุรกิจ จบนิติแล้วไปเลี้ยงปลา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศเสียหายมากครับ

วิธีการเลือกเรียนที่ถูกต้องคือ.... เลือกเรียนในสาขาที่ตนเองชอบและถนัดเท่านั้น แต่ถ้าไม่ชอบอย่าเลือกนะครับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือข้ออ้างอะไรก็ตาม

แต่คำว่าชอบนั้นต้องชอบแบบชอบจริงๆ ไม่ใช่ชอบหมอเพราะพ่อเป็นหมอ ชอบทหารเพราะปู่เป็นทหาร ชอบเป็นแอร์โฮสเตสเพราะอยากขึ้นเครื่องบิน ชอบเป็นนักร้องเพราะอยากให้มีคนกรี๊ด ฯลฯ เหตุผลที่ทำให้ชอบพวกนั้นผิดหมดครับ แล้วถ้าชอบด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ เมื่อคุณเรียนไปสักพักหนึ่ง คุณก็จะรู้ว่าคุณไม่ได้ชอบมันจริง เช่น ถ้าคุณอยากเป็นแอร์โฮสเตสเพราะอยากขึ้นเครื่องบิน ถ้าคุณได้ขึ้นเครื่องบินสัก 10 ครั้งคุณก็จะเริ่มเบื่อ แล้วทำให้คุณเบื่อการเป็นแอร์โฮสเตสไปด้วย หรือถ้าคุณอยากเป็นนักร้องเพราะอยากให้มีคนมากรี๊ด เมื่อคุณโดนกรี๊ดสักพัก ไปไหนก็โดนคนแห่ตามไปกรี๊ด ไม่ว่าจะกินก๋วยเตี๋ยว เดินห้าง หรือเข้าห้องน้ำ คุณก็จะเริ่มอยากมีชีวิตอิสระ ไม่ชอบให้ใครมากรี๊ด แล้วก็จะพาลไม่อยากเป็นนักร้องไปด้วยครับ

“ความชอบที่ถูกต้อง” คือ ต้องชอบหลังจากได้รู้จักวิชาชีพนั้นอย่างลึกซึ้ง เช่นถ้าอยากเป็นหมอ ต้องรู้ว่า การเรียนหมอนั้นจะต้องถนัดวิชาด้านใด การจะสอบเข้าหมอนั้นจะต้องสอบวิชาอะไรบ้าง ต้องทำคะแนนได้ประมาณเท่าไร สอบได้แล้วจะต้องไปเรียนที่ไหน เรียนวิชาอะไรบ้าง สัง ตอนเรียนเครียดแค่ไหน จบแล้วไปทำงานอะไร เงินเดือนเท่าไร ไปทำงานที่ไหน ผ่านไป สิบปี ยี่สิบปี สามสิบปี สี่สิบปี จะไปทำงานอะไร ที่ไหน เงินเดือนเท่าไหร่ สังคมการทำงานเป็นอย่างไร ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯฯฯ

นอกจากนี้ การรู้จักการเรียนของหมอลึกซึ้งอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องรู้จักวิชาชีพอื่นๆให้ลึกซึ้งเช่นเดียวกับหมอเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรม สถาปัตย์ เภสัชกรรม บัญชี ทนายความ ครู รัฐศาสตร์ นักแสดง นักกีฬา ฯลฯ ต้องรู้ให้ทุกอาชีพ เพื่อมาเปรียบเทียบกับหมอ ถ้ารู้ลึกซึ้งอย่างนี้ ยังคงอยากเป็นหมอ ก็ดูหนังสือให้เต็มที่ สอบปีนี้ไม่ได้ก็สอบใหม่ เรียนเมืองไทยไม่ได้ก็ไปเมืองนอก อย่าให้มีอะไรมาขัดขวางความฝันของเราครับ

ผมหวังว่า การแนะนำการเลือกคณะ ตามสิ่งที่ตนชอบและถนัดจะช่วยให้ท่านผู้อ่าน สามารถนำไปใช้ได้ในการตัดสินใจเลือกคณะ เพื่อไปสู่อาชีพที่ใช่สำหรับคุณได้นะครับ สำหรับฉบับนี้ ผมขอจบไว้เพียงเท่านี้ก่อน ในฉบับหน้าผมจะนำสาระดีๆเกี่ยวกับการเลือกอาชีพมาให้ท่านผู้อ่าน ขอให้ทุกท่านฝันให้ไกล และไล่ตามฝันให้ทันครับ สวัสดีครับ

ตอนที่ 2

เมื่อคราวที่แล้ว ผมได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเลือกคณะเรียน เพื่อไปสู่อาชีพที่ใช่ ในฉบับนี้ผมขอนำเสนอวิธีการเลือกอาชีพที่ใช่ ซึ่งผู้ที่จะต้องคิดหนักว่าจะเลือกอาชีพอะไรนั้น ก็คงเป็นกลุ่มวัยรุ่นเพิ่งจบใหม่ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาดูกันเลยครับว่ามีวิธีอะไรบ้าง

1. ความถนัดและความชอบส่วนตัว
คนเราแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน การได้ทำงาน หรือประกอบอาชีพที่ตน ถนัด โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานหรืออาชีพนั้น ย่อมมีมาก ตรงข้าม ถ้าได้ทำงานที่ตนเอง ไม่ถนัด นอกจากจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรแล้ว ยังทำให้ขาดความสุขในการทำงานนั้น ๆ อีกด้วย ความถนัด ส่วนตัว เป็นสิ่งที่คุณจะต้องค้นหาให้พบในตนเอง โดยจะต้องพิจารณาอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่พิจารณาโดย ผิวเผิน จากความชอบความสนใจเพียงอย่างเดียว คนบางคนมีความชอบ มีความสนใจ แต่อาจจะไม่มี ความถนัด ก็เป็นได้ ความถนัดจึงเป็นความสามารถในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีเป็นพิเศษ เช่น ความถนัดทาง ตัวเลข ความถนัดในการพูด การใช้ภาษา ความถนัดในการแสดง

นอกจากนี้ควรพิจารณาในบุคลิกภาพของตนเองด้วย เช่น หากคุณเป็นคน มีอำนาจแฝง ให้ความร่วมมือ มีความเป็นหญิง มีไมตรีจิต กว้างขวาง ชอบบำเพ็ญประโยชน์ มีอุดมคติ มีความคิดลึกซึ้ง เมตตากรุณา จูงใจคนเก่ง มีความรับผิดชอบ ชอบเข้าสังคม รู้จักกาละเทศะ มีความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ คุณเป็นคนที่มี บุคลิกภาพของผู้มีความสนใจแบบ Social ความชอบ คือ ชอบประกอบกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้ การฝึกหัด การพัฒนา การอนุรักษ์ และการสั่งสอน ไม่ชอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ วัตถุเครื่องมือ เครื่องยนต์ มีความสามารถใน ด้านมนุษยสัมพันธ์ และด้อยความสามารถด้าน การช่างและเทคนิค บุคคลกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมดังนี้ ชอบอาชีพประเภท งานบริการการศึกษา และ สังคม แต่ไม่ชอบอาชีพ ประเภท งานช่างฝีมือ และ คุณจะใช้ความสามารถที่คุณมี แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การงาน และ เรื่องอื่น ๆคุณจะรับรู้ตัวเองในฐานะ คนที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น เข้าใจผู้อื่น มีความสามารถ ทางด้านการสอน แต่ขาดความสามารถ ทางด้านเครื่องยนต์ และ วิทยาศาสตร์ คุณจะมีค่านิยม เกี่ยวกับปัญหา และ กิจกรรมด้านสังคม และ การกีฬา อาชีพที่บุคคลกลุ่มนี้สนใจ ได้แก่ ครู นักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ที่ปรึกษาปัญหาส่วนตัว หรือ หากคุณเป็นคน ชอบเสี่ยงภัย ทะเยอทะยาน กล้าโต้แย้ง น่าเชื่อถือ กระปรี้กระเปร่า เปิดเผย ใจร้อน มองโลกในแง่ดี สนุกสนาน เชื่อมั่นในตนเอง เข้าสังคมง่าย ช่างพูด คุณเป็นคนที่มี บุคลิกภาพของผู้มีความสนใจแบบ Enterprising คุณจะ ชอบประกอบกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับ การวางแผน หรือ ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ และไม่ชอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสังเกต เป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นระเบียบแบบแผน อีกทั้งมีความสามารถด้านการเป็นผู้นำ การประชาสัมพันธ์ การชักชวน และด้อยความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ บุคคลกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรม คือ ชอบอาชีพประเภท งานจัดการ และ ค้าขาย แต่ไม่ชอบอาชีพ ประเภทงานวิทยาศาสตร์ และ เทคนิค คุณจะใช้ความสามารถที่คุณมี แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การงาน และ เรื่องอื่น ๆ คุณจะรับรู้ตัวเองในฐานะ ผู้กว้างขวาง มีความเชื่อมั่นในตนเอง เข้าสังคมเก่ง มีความสามารถ ทางด้านการเป็นผู้นำ การพูด แต่ด้อยความสามารถ ทางด้านวิทยาศาสตร์ คุณจะนิยมผู้มีความสามารถ ทางด้านการเมือง และ เศรษฐกิจ อาชีพที่บุคคลกลุ่มนี้สนใจ คือ นักธุรกิจ พ่อค้า แอร์โฮสเตส นายหน้า และนักจัดรายการโทรทัศน์ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า บุคลิกภาพก็กำหนดการเลือกอาชีพได้เช่นกัน

2. โอกาสที่จะเข้าทำงาน
ในปัจจุบันในการเลือกเรียนอะไรก็ตาม คุณจะต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะทำงานด้วย เช่น อาชีพบางอาชีพในปัจจุบันจะมีการแข่งขันเพื่อสอบคัดเลือกเข้าทำงาน โดยมีผู้สมัครจำนวนมาก แต่มีตำแหน่งงานน้อย โอกาสที่จะเข้าทำงานจึงยาก ถ้าคุณจะเลือกเรียนเพื่อประกอบอาชีพนี้ก็จะต้องมั่นใจตนเอง ว่ามีระดับสติปัญญา มีความสามารถสูง เพื่อจะมีโอกาสที่จะได้งานทำ ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมคิดว่า เรื่องโอกาสในการที่จะเข้าทำงานนั้น ต้องอาศัยความพยายามครับ หากโอกาสมาถึงแล้ว ก็ควรไขว่คว้าไว้ และพยายามทำโอกาสนั้นให้ดีที่สุดครับ แล้วความฝันและความพยายามของคุณจะไม่สูญเปล่า

3. ข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวกับอาชีพที่เลือก
การตัดสินใจเลือกงาน ควรศึกษาเกี่ยวกับลักษณะงาน คุณสมบัติของ ผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ แนวโน้มในอนาคต รายได้หรือผลตอบแทน ข้อจำกัดและความเสี่ยง โอกาสก้าวหน้า สวัสดิการต่างๆ คุณจะต้องรู้จักนำข้อมูลหลาย ๆ ด้าน มาเปรียบเทียบแล้วจึงตัดสินใจ นอกจากนั้นคุณควรพิจารณาความ รู้สึกของตนเองให้ถ่องแท้ เนื่องจากในช่วงวัยรุ่น ความสนใจและความต้องการ อาจจะมีลักษณะที่หวือหวา ไม่มีการไตร่ตรองโดยแท้จริง การเลือกอาชีพนอกจากจะต้องพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วเรายังพบว่า ลักษณะการเลือกอาชีพของวัยรุ่นมักเลือกเพราะอิทธิพลจากสื่อมวลชน และผู้ปกครอง เพื่อนฝูง อีกด้วย ดังนั้นการเลือกอาชีพจึงควรเลือกสิ่งที่ใช่สำหรับตัวคุณเองเท่านั้นนะครับ

สุดท้าย
 วิธีการเลือกอาชีพมีวิธีการเลือกคร่าวๆดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งในความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นนั้น อาจจะไม่เป็นเหมือนทฤษฎีที่เราคาดหวังไว้ บางคนต้องผ่านงานหลายงาน และหลายด้าน กว่าจะพบอาชีพที่ใช่ แต่ผมเชื่อว่า ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเรียนรู้ ผมอยากให้ท่านผู้อ่านค้นคว้าหาโอกาสให้กับตนเองเสมอจนกว่าจะเจอสิ่งทีใช่ แต่มีข้อแม้นะครับว่า ต้องใช้ความพยายามให้เต็มที่เสียก่อน อย่าให้ความขี้เกียจ หรือสภาพสิ่งแวดล้อมมาเป็นอุปสรรค เพราะบางคนพอทำงานไปเพียงแค่ไม่กี่เดือน เริ่มรู้สึกเบื่อบ้าง เหนื่อยบ้าง ก็หางานใหม่ โดยแท้ที่จริงแล้ว ตัวเองเบื่อเอง และขาดความอดทนเอง บางทีสิ่งที่ใช่อาจจะเป็นสิ่งนั้นที่ดูเหมือนน่าเบื่อในตอนแรกก็ได้นะครับ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆโดยปราศจากความพยายามครับ